ประวัติและข้อมูลของจังหวัดนครปฐม


ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงาม ข้าวหลามหวานมัน สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า
นครปฐม จังหวัดเล็กๆ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ด้วยระยะทางประมาณ ๕๖ กิโลเมตร เป็นเมืองแห่งปูชนียสถานเก่าแก่ที่สำคัญคือ“พระปฐมเจดีย์” ซึ่งนับเป็นร่องรอยแห่งแรกของการเผยแพร่อารยธรรมพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทย ทั้งยังเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์มากมายไปด้วยผลไม้และอาหารขึ้นชื่อนานาชนิด เมืองนครปฐมเดิมตั้งอยู่ริมทะเลเคยเป็นเมืองเก่าแห่งหนึ่งซึ่ง เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยทวาราวดีเพราะเป็นราชธานีที่สำคัญ มีหลักฐานเชื่อว่าศาสนาพุทธและอารยธรรมจากประเทศอินเดียเผยแพร่เข้ามาที่นคร ปฐมเป็นแห่งแรก โดยสันนิษฐานจากองค์พระปฐมเจดีย์และซากโบราณวัตถุต่างๆ ที่ค้นพบที่จังหวัดนครปฐม นครปฐมจึงเป็นศูนย์กลางของความเจริญ มีชนชาติต่างๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาเกิดความแห้งแล้งขึ้นในเมืองนครปฐม เพราะกระแสน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองเปลี่ยนเส้นทาง ประชาชนจึงอพยพไปตั้งหลักแหล่งอยู่ริมน้ำ และสร้างเมืองใหม่ขึ้น ชื่อว่า “นครชัยศรี” หรือ “ศิริชัย” นครปฐมจึงกลายเป็นเมืองร้างมาหลายร้อยปี จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังทรงผนวชได้เสด็จธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์และทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์ องค์ใหญ่ไม่มีที่ไหนจะเทียบเท่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อเจดีย์แบบลังกาครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ ทรงปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ให้มีสภาพดี และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเจดีย์บูชา เพื่อให้การคมนาคมสะดวกขึ้น ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เริ่มทำทางรถไฟสายใต้ แต่ตอนนั้นเมืองนครปฐมยังเป็นป่ารกอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองจากตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี มาตั้งที่บริเวณพระปฐมเจดีย์เหมือนที่เคยตั้งมาแล้วในสมัยโบราณ เมืองนครปฐมจึงอยู่ต่อมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นที่ตำบลสนามจันทร์เป็นที่เสด็จแปรพระราชฐาน และโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย ให้สร้างสะพานใหญ่ข้ามคลองเจดีย์บูชาขึ้น ทรงพระราชทานนามว่า “สะพานเจริญศรัทธา” ต่อมาให้เปลี่ยนชื่อเมือง “นครชัยศรี” เป็น “นครปฐม” แต่ชื่อมณฑลยังคงเรียกว่า “มณฑลนครชัยศรี” อยู่ จนกระทั่งยุบเลิกในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบันนครชัยศรีมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นอยู่กับจังหวัดนครปฐม
จัง หวัดนครปฐม มีเนื้อที่ประมาณ ๒,๑๖๘.๓๒๗ ตารางกิโลเมตร หรือ ๑,๓๕๕,๒๐๔ ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น ๗ อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครปฐม อำเภอพุทธมณฑล อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี อำเภอบางเลน อำเภอกำแพงแสน และอำเภอดอนตูม พื้นที่ทั่วไปของจังหวัดนครปฐมเป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีภูเขา มีที่ดอนเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองและอำเภอกำแพงแสนเท่านั้น ส่วนที่ราบลุ่มบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน (แม่น้ำนครชัยศรี) ได้แก่ ท้องที่อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน และอำเภอบางเลน เป็นที่อุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรรม การทำสวน ทำไร่ และสวนผลไม้ โดยเฉพาะการปลูกส้มโอ ซึ่งนำชื่อเสียงมาสู่จังหวัดนครปฐมจนได้ชื่อว่าเป็นเมืองส้มโอหวาน



อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดราชบุรี


สถานที่ท่องเที่ยวในนครปฐม


อำเภอกำแพงแสน


| มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (สวนพฤกษศาสตร์) | สวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลาย | เมืองเก่ากำแพงแสน | โรงเรียนการบินกำแพงแสน |

อำเภอนครชัยศรี


| ตลาดน้ำวัดกลางคูเวียง | พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสำโรง | พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาไทย | พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย | วัดกลางบางแก้ว | วัดบางพระ | วัดศีรษะทอง | สนามแข่งรถไทยแลนด์เซอร์กิต | อุทยานปลา | เจษฎา เทคนิค มิวเซี่ยม |

อำเภอบางเลน


| ตลาดน้ำวัดลำพญา | แอร์ออร์คิด |

อำเภอพุทธมณฑล


| พระอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรณ์เกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ | พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย | พุทธมณฑล | ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) | สวนศิลป์ มีเซียม ยิบอินซอย |

อำเภอสามพราน


| ตลาดดอนหวาย | ลานแสดงช้างและฟาร์มจระเข้สามพราน | วัดไร่ขิง | สวนสามพราน |

อำเภอเมือง


| พระประโทณเจดีย์ | พระราชวังนครปฐม | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ | พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชวังสนามจันทร์) | วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร | วัดพระเมรุ | สถาบันวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก | เนินธรรมศาลา | เนินพระ หรือ เนินยายหอม | เนินวัดพระงาม |


ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอใกล้เคียง

อำเภอนครชัยศรี ๑๔ กิโลเมตร
อำเภอพุทธมณฑล ๒๐ กิโลเมตร
อำเภอสามพราน ๒๑ กิโลเมตร
อำเภอกำแพงแสน ๒๖ กิโลเมตร
อำเภอดอนตูม ๓๑ กิโลเมตร
อำเภอบางเลน ๔๖ กิโลเมตร ระยะทางจากจังหวัดนครปฐมไปยังจังหวัดใกล้เคียง

จังหวัดราชบุรี ๔๗ กิโลเมตร
จังหวัดกาญจนบุรี ๖๙ กิโลเมตร
สมุทรสาคร ๕๒ กิโลเมตร
จังหวัดสุพรรณบุรี ๙๓ กิโลเมตร
จังหวัดนนทบุรี ๖๑ กิโลเมตร



การเดินทาง



รถยนต์จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายเก่า สายถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข ๔) ผ่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ สามพราน ไปจนถึงจังหวัดนครปฐม หรือ เส้นทางสายใหม่ จากกรุงเทพฯ ถนนบรมราชชนนี ผ่านพุทธมณฑล นครชัยศรี ไปจนถึงตัวจังหวัดนครปฐม
รถโดยสารประจำทาง ทาง การเดินทางไปจังหวัดนครปฐม สามารถเดินทางได้จากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ตั้งแต่เวลา ๐๕.๓๐-๒๓.๑๕ น. ซึ่งมีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศวิ่ง ๒ เส้นทาง คือ
สาย เก่า (กรุงเทพฯ-อ้อมใหญ่-สามพราน-นครปฐม) มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น ๒ สายกรุงเทพฯ-นครปฐม, กรุงเทพฯ-ราชบุรี, กรุงเทพฯ-บางลี่
สายใหม่ (กรุงเทพฯ-พุทธมณฑล-นครชัยศรี-นครปฐม) สามารถใช้บริการรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น ๑ สายกรุงเทพฯ-นครปฐม, กรุงเทพฯ-ด่านช้าง(สีน้ำเงิน) หรือ รถโดยสารปรับอากาศชั้น ๒ สายกรุงเทพฯ-นครปฐม, สายกรุงเทพฯ-ดำเนินสะดวก, กรุงเทพฯ-เพชรบุรี ตั้งแต่เวลา ๐๕.๓๐-๒๓.๐๐ น. รถอกทุก ๑๕ นาที สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี โทร. ๐ ๒๔๓๕ ๕๖๐๕, ๐ ๒๔๓๔ ๗๑๙๒, ๐ ๒๔๓๕ ๑๑๙๙ และ นครปฐมทัวร์ กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๔๓๕ ๔๙๗๑ นครปฐม โทร. ๐ ๓๔๒๔ ๓๑๑๓ หรือ HYPERLINK "http://www.transport.co.th" www.transport.co.th
รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการรถไฟไปจังหวัดนครปฐมทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง โทร. ๑๖๙๐, ๐ ๒๒๒๐ ๔๓๓๔, ๐ ๒๒๒๐ ๔๔๔๔ และที่สถานีรถไฟธนบุรี โทร. ๐ ๒๔๑๑ ๓๑๐๒ หรือ www.railway.co.th