เปิดโลกอาเซียน เรานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประเทศในอาเซียน ทุกเรื่องราว ทุกแง่มุม ที่คนไทยควรรู้


ประวัติศาสตร์ประเทศไทย
ภูมิภาคสุวรรณภูมิเคยถูกชาวมอญ เขมรและมาเลย์ปกครองมาก่อน ต่อมา คนไทยได้สถาปนาอาณาจักรของตนเอง เช่น อาณาจักรสุโขทัย ไล่เลี่ยกันกับอาณาจักรล้านนา อาณาจักรเชียงแสน และอาณาจักรอยุธยา อาณาจักรสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองในช่วงเวลาค่อนข้างสั้นประมาณ 200 ปี ก็ถูกผนวกรวมกับอาณาจักรอยุธยา อาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมั่งคั่ง เป็นศูนย์กลางการค้าระดับนานาชาติ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูปการปกครอง ซึ่งบางส่วนใช้สืบมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังทรงตราพระราชกำหนดศักดินา ทำให้อยุธยาเป็นสังคมศักดินา อยุธยาเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกเมื่อ พ.ศ. 2054 หลังโปรตุเกสยึดครองมะละกา หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2112 กรุงศรีอยุธยาตกเป็นประเทศราชของราชวงศ์ตองอูแห่งพม่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพในอีก 15 ปีให้หลัง อาณาจักรอยุธยาเจริญถึงขีดสุดหลังจากนั้น ทั้งความสัมพันธ์กับต่างประเทศก็รุ่งเรืองมากในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อาณาจักรอยุธยาเริ่มเสื่อมลง จนล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิงใน พ.ศ. 2310 พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราช และย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี รัชสมัยของพระองค์ถือเป็นช่วงเวลาของการทำสงครามและการฟื้นฟูความเจริญของชาติ อาณาจักรธนบุรีมีพระมหากษัตริย์ปกครองพระองค์เดียว กินระยะเวลาเพียง 15 ปี แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 กรุงรัตนโกสินทร์ยังเผชิญกับภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้าน กระทั่งรัชกาลที่ 4 การลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำให้ชาติตะวันตกหลายชาติเข้ามาทำสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมอีกหลายฉบับ ต่อมา แม้จะมีการยกดินแดนให้ฝรั่งเศสและอังกฤษหลายครั้ง แต่สยามไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก กุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร อันทำให้สยามได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และนำมาซึ่งการแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมทั้งหลาย วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ทำให้คณะราษฎรเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้ลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น แต่ในช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา มีนโยบายต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยยังถือได้ว่าอยู่ในระบอบเผด็จการในทางปฏิบัติอยู่หลายทศวรรษ ประเทศไทยประสบกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และมีการสืบทอดอำนาจรัฐบาลทหารผ่านรัฐประหารหลายสิบครั้ง อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นได้มีเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประชาธิปไตยในประเทศเริ่มมีความมั่นคงยิ่งขึ้น



ประวัติศาสตร์ประเทศกัมพูชา
ประวัติศาสตร์กัมพูชา เริ่มตั้งแต่ยุคของอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรเจนละ พัฒนามาสู่กัมพูชายุคเมืองพระนคร ซึ่งมีความยิ่งใหญ่จนสามารถสร้างนครวัด นครธม เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร จนกระทั่งพ่ายแพ้แก่อยุธยากลายเป็นรัฐบรรณาการของอยุธยา จนเมื่อฝรั่งเศสเข้ามามีอำนาจในอินโดจีน กัมพูชากลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส และเป็นรัฐในอารักขาของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสิ้นสุดสงครามโลก กัมพูชาได้เป็นประเทศเอกราช แต่เกิดความสับสนวุ่นวายภายในประเทศเนื่องจากความขัดแย้งภายใน ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดงอยู่ระยะหนึ่ง จนกองกำลังของเฮงสัมรินที่มีเวียดนามหนุนหลังเข้ามาขับไล่เขมรแดงออกไป และการเข้ามาไกล่เกลี่ยของสหประชาชาติ เพื่อยุติสงครามกลางเมือง



ประวัติศาสตร์ประเทศลาว
ลาวอยู่ภายใต้การครอบครองของอาณาจักรน่านเจ้ามีตำนานโดยขุนบรม และขุนลอ มีลูกสืบหลานต่อๆ กันมา จนถึงรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มผู้รวบรวมอาณาจักรล้านช้างได้เป็นผลสำเร็จในช่วงสมัยพุทธศตวรรษที่ 19 และมีกษัตริย์ปกครองสืบทอดต่อกันมาหลายพระองค์ ภายหลังเมื่อพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคตแล้ว เชื้อพระวงศ์ลาวต่างก็แก่งแย่งราชสมบัติกัน จนอาณาจักรล้านช้างแตกแยกเป็น 3 ส่วนคือ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน และเพื่อชิงความเป็นใหญ่ต่างก็ขอสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรเพื่อนบ้าน เช่น ไทย พม่า เพื่อขอกำลังมาสยบอาณาจักรลาวด้วยกันในลักษณะนี้ ในที่สุดอาณาจักรลาวทั้ง 3 แห่งนี้จะตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรสยามในปี พ.ศ. 2321 จากการใช้เล่ห์เหลี่ยมของสยาม สยามได้ปกครองดินแดนลาวทั้งสามส่วนในฐานะประเทศราชรวม 114 ปี ในระยะเวลาดังกล่าวอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ได้ล่มสลายลงในปี พ.ศ. 2371 เนื่องจากในปี พ.ศ. 2369 พระเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ได้พยายามทำสงครามเพื่อตั้งตนเป็นอิสระจากสยาม เนื่องจากไม่อาจทนต่อการกดขี่ของฝ่ายไทยได้ ทว่าหลังการปราบปรามของกองทัพไทยอย่างหนัก พระองค์เห็นว่าจะทำการไม่สำเร็จจึงตัดสินพระทัยหลบหนีไปพึ่งจักรวรรดิเวียดนามจนถึง พ.ศ. 2371 พระองค์จึงได้กลับมายังกรุงเวียงจันทน์พร้อมกับขบวนราชทูตเวียดนามพามาเพื่อขอสวามิภักดิ์สยามอีกครั้ง แต่พอสบโอกาสพระองค์จึงนำทหารของตนฆ่าทหารไทยที่รักษาเมืองจนเกือบหมดและยึดกรุงเวียงจันทน์คืน กองทัพสยามรวบรวมกำลังพลและยกทัพมาปราบปรามเจ้าอนุวงศ์อีกครั้งจนราบคาบ จนพระเจ้าอนุวงศ์ต้องหลบหนีไปยังเวียดนามและในคราวนี้เองที่พระองค์ทรงถูกเจ้าเมืองพวนจับกุมตัวและส่งลงมากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธเจ้าอนุวงศ์มากจึงทรงให้คุมขังเจ้าอนุวงศ์ประจานกลางพระนครจนสิ้นพระชนม์ ส่วนกรุงเวียงจันทน์ก็มีพระบรมราชโองการให้เผาทำลายจนไม่เหลือสภาพความเป็นเมือง และตั้งศูนย์กลางการปกครองฝ่ายไทยเพื่อดูแลอาณาเขตของอาณาจักรเวียงจันทน์ที่เมืองหนองคายแทน ดินแดนลาวทั้งหมดก็เปลี่ยนไปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ ประเทศฝรั่งเศส จากการใช่เล่ห์เหลี่ยมของโอกุสต์ ปาวี กงสุลฝรั่งเศส โดยการใช้เรือรบมาปิดอ่าวไทยเพื่อบังคับให้ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมทั้งดินแดนอื่น ๆ ลาวถูกรวมเข้าเป็นอินโดจีนของฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2436 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้รุกเข้ามาในลาวและดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสอื่นๆ เมื่อญี่ปุ่นใกล้แพ้สงคราม ขบวนการลาวอิสระซึ่งเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกู้เอกราชลาวในเวลานั้นประกาศเอกราชให้ประเทศลาวเป็นประเทศ ราชอาณาจักรลาว หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม ฝรั่งเศสก็กลับเข้ามามีอำนาจในอินโดจีนอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากการที่เวียดมินห์ปลดปล่อยเวียดนามได้ จึงเป็นการสั่นคลอนอำนาจฝรั่งเศสจนยอมให้ลาวประกาศเอกราชบางส่วนในปี พ.ศ. 2492 และได้เอกราชสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2496 ภายหลังฝรั่งเศสรบแพ้เวียดนามที่เดียนเบียนฟู ผู้ที่มีบทบาทในการประกาศเอกราชคือ เจ้าสุวรรณภูมา เจ้าเพชรราช และ เจ้าสุภานุวงศ์ โดยมีเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ามหาชีวิต (พระมหากษัตริย์) จากอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางเดิม และได้รวมทั้ง 3 อาณาจักรคือ ล้านช้างหลวงพระบาง ล้านช้างเวียงจันทน์ และ ล้านช้างจำปาศักดิ์ เข้าด้วยกันเป็นราชอาณาจักรลาว พ.ศ. 2502 เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์เสด็จสวรรคต เจ้าสว่างวัฒนาจึงขึ้นครองราชย์เป็นเจ้ามหาชีวิตแทน เหตุการณ์ในลาวยุ่งยากมาก เจ้าสุภานุวงศ์ 1 ในคณะลาวอิสระประกาศตนว่าเป็นพวกฝ่ายซ้ายนิยมคอมมิวนิสต์ และเป็นหัวหน้าขบวนการประเทศลาว ได้ออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองในป่า เนื่องจากถูกฝ่ายขวาในลาวคุกคามอย่างหนัก ถึงปี พ.ศ. 2504 ร้อยเอกกองแลทำการรัฐประหารรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมา แต่ถูกกองทัพฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายรุมจนพ่ายแพ้ กองแลต้องลี้ภัยไปสหรัฐจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ทางการเมืองในระยะเวลาไม่นานหลังจากนั้นบังคับให้ลาวต้องกลายเป็นสมรภูมิลับของสงครามเวียดนาม และเป็นปัจจัยก่อให้เกิดการรัฐประหารและสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ ภายใต้การแทรกแซงของชาติต่างๆ ทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายโลกเสรี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2518 พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและเวียดนามเหนือ โดยการนำของเจ้าสุภานุวงศ์ ก็ยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาสำเร็จ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาทรงยินยอมสละราชสมบัติ ปฏิวัติลาวจึงประกาศสถาปนาประเทศลาวเป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 โดยยังคงแต่ตั้งให้อดีตเจ้ามหาชีวิตเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลระบอบใหม่ แต่ภายหลังพรรคประชาชนปฏิวัติลาวก็ได้กุมตัวอดีตเจ้ามหาชีวิตและมเหสีไปคุมขังในค่ายกักกันจนสิ้นพระชนม์ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในเวลาต่อมา



ประวัติศาสตร์ประเทศพม่า
ชาวปยูหรือพยูเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศพม่าตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 4 และได้สถาปนานครรัฐขึ้นหลายแห่ง เช่นที่ พินนาคา (Binnaka) มองกะโม้ (Mongamo) อาณาจักรศรีเกษตร (Sri Ksetra) เปียทะโนมโย (Peikthanomyo) และหะลินยี (Halingyi) ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนพม่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าระหว่างจีนและอินเดีย จากเอกสารของจีนพบว่า มีเมืองอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวพยู 18 เมือง และชาวพยูเป็นชนเผ่าที่รักสงบ ไม่ปรากฏว่ามีสงครามเกิดขึ้นระหว่างชนเผ่าพยู ข้อขัดแย้งมักยุติด้วยการคัดเลือกตัวแทนให้เข้าประลองความสามารถกัน ชาวพยูสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ทำจากฝ้าย อาชญากรมักถูกลงโทษด้วยการโบยหรือจำขัง เว้นแต่ได้กระทำความผิดอันร้ายแรงจึงต้องโทษประหารชีวิต ชาวพยูนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาที่วัดตั้งแต่อายุ 7 ขวบจนถึง 20 ปี นครรัฐของชาวพยูไม่เคยรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่นครรัฐขนาดใหญ่มักมีอิทธิพลเหนือนครรัฐขนาดเล็กซึ่งแสดงออกโดยการส่งเครื่องบรรณาการให้ นครรัฐที่มีอิทธิพลมากที่สุดได้แก่ศรีเกษตร ซึ่งมีหลักฐานเชื่อได้ว่า เป็นเมืองโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศพม่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าอาณาจักรศรีเกษตรถูกสถาปนาขึ้นเมื่อใด แต่มีการกล่าวถึงในพงศาวดารว่ามีการเปลี่ยนราชวงศ์เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 637 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาณาจักรศรีเกษตรต้องได้รับการสถาปนาขึ้นก่อนหน้านั้น มีความชัดเจนว่า อาณาจักรศรีเกษตรถูกละทิ้งไปในปีพุทธศักราช 1199 เพื่ออพยพย้ายขึ้นไปสถาปนาเมืองหลวงใหม่ทางตอนเหนือ แต่ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองใด นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองหะลินคยี อย่างไรก็ตามเมืองดังกล่าวถูกรุกรานจากอาณาจักรน่านเจ้าในราวพุทธศตวรรษที่ 15 จากนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงชาวพยูอีก อำนาจของอาณาจักรพุกามค่อย ๆ เสื่อมลง ด้วยเหตุผลหลักสองประการ ส่วนหนึ่งจากการถูกเข้าครอบงำโดยของคณะสงฆ์ผู้มีอำนาจ และอีกส่วนหนึ่งจากการรุกรานของจักรวรรดิมองโกลที่เข้ามาทางตอนเหนือ พระเจ้านรสีหบดี (ครองราชย์ พ.ศ. 1779–1830) ได้ทรงนำทัพสู่ยุนนานเพื่อยับยั้งการขยายอำนาจของมองโกล แต่เมื่อพระองค์แพ้สงครามที่งาสองกยัน (Ngasaunggyan) ในปีพุทธศักราช 1820 ทัพของอาณาจักรพุกามก็ระส่ำระสายเกือบทั้งหมด พระเจ้านรสีหบดีถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์ในปีพุทธศักราช 1830 กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้อาณาจักรมองโกลตัดสินใจรุกรานอาณาจักรพุกามในปีเดียวกันนั้น ภายหลังสงครามครั้งนี้ อาณาจักรมองโกลก็สามารถเข้าครอบครองดินแดนของอาณาจักรพุกามได้ทั้งหมด ราชวงศ์พุกามสิ้นสุดลงเมื่อมองโกลได้แต่งตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นบริหารดินแดนพม่าในปีพุทธศักราช 1832 หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม พม่าได้แตกแยกออกจากกันอีกครั้ง ราชวงศ์อังวะซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรพุกามได้ถูกสถาปนาขึ้นที่เมืองอังวะในปีพุทธศักราช 1907 ศิลปะและวรรณกรรมของพุกามได้ถูกฟื้นฟูจนยุคนี้กลายเป็นยุคทองแห่งวรรณกรรมของพม่า แต่เนื่องด้วยอาณาเขตที่ยากต่อป้องกันการรุกรานจากศัตรู เมืองอังวะจึงถูกชาวไทใหญ่เข้าครอบครองได้ในปีพุทธศักราช 2070 สำหรับดินแดนทางใต้ ชาวมอญได้สถาปนาอาณาจักรของพวกตนขึ้นใหม่อีกครั้งที่หงสาวดี โดยกษัตริย์ธรรมเจดีย์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2035 – 2070) เป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของมอญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาทและศูนย์กลางทางการค้าขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา สืบเนื่องจากการพยายามขยายอำนาจของอังกฤษ กองทัพอังกฤษได้เข้าทำสงครามกับพม่าในปี พ.ศ. 2367 สงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่หนึ่งนี้ (พ.ศ. 2367–2369) ยุติลงโดยอังกฤษเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ฝ่ายพม่าจำต้องทำสนธิสัญญายันดาโบ (Yandaboo) กับอังกฤษ ทำให้พม่าต้องสูญเสียดินแดนอัสสัม มณีปุระ ยะข่าย และตะนาวศรีไป ซึ่งอังกฤษเริ่มก็ต้นตักตวงทรัพยากรต่าง ๆ ของพม่านับแต่นั้น เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับวัตถุดิบที่จะป้อนสู่สิงคโปร์ สร้างความแค้นเคืองให้กับทางพม่าเป็นอย่างมาก กษัตริย์องค์ต่อมาจึงทรงยกเลิกสนธิสัญญายันดาโบ และทำการโจมตีผลประโยชน์ของฝ่ายอังกฤษ ทั้งต่อบุคคลและเรือ เป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่สอง ซึ่งก็จบลงโดยชัยชนะเป็นของอังกฤษอีกครั้ง หลังสิ้นสุดสงครามครั้งนี้ อังกฤษได้ผนวกหงสาวดีและพื้นที่ใกล้เคียงเข้าไว้กับตน โดยได้เรียกดินแดนดังกล่าวเสียใหม่ว่าพม่าตอนใต้ สงครามครั้งนี้ก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในพม่า เริ่มต้นด้วยการเข้ายึดอำนาจโดยพระเจ้ามินดง (Mindon Min, ครองราชย์ พ.ศ. 2396–2421) จากพระเจ้าปะกัน (Pagin Min, ครองราชย์ พ.ศ. 2389–2396) ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระชนนี พระเจ้ามินดงพยายามพัฒนาประเทศพม่าเพื่อต่อต้านการรุกรานของอังกฤษ พระองค์ได้สถาปนากรุงมัณฑะเลย์ ซึ่งยากต่อการรุกรานจากภายนอก ขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการรุกรานจากอังกฤษได้ รัชสมัยต่อมา พระเจ้าธีบอ (Thibow, ครองราชย์ พ.ศ. 2421–2428) ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้ามินดง ทรงมีบารมีไม่พอที่จะควบคุมพระราชอาณาจักรได้ จึงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นไปทั่วในบริเวณชายแดน ในที่สุดพระองค์ได้ตัดสินพระทัยยกเลิกสนธิสัญญากับอังกฤษที่พระเจ้ามินดงได้ทรงกระทำไว้ และได้ประกาศสงครามกับอังกฤษเป็นครั้งที่สามในปีพุทธศักราช 2428 ผลของสงครามครั้งนี้ทำให้อังกฤษสามารถเข้าครอบครองดินแดนประเทศพม่าส่วนที่เหลือเอาไว้ได้ พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี พ.ศ. 2429 และระยะก่อนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย ญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ติดต่อกับพวกตะขิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาหนุ่มที่มีหัวรุนแรง มีออง ซาน นักชาตินิยม และเป็นผู้นำของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเป็นหัวหน้า พวกตะขิ้นเข้าใจว่าญี่ปุ่นจะสนับสนุนการประกาศอิสรภาพของพม่าจากอังกฤษ แต่เมื่อญี่ปุ่นยึดครองพม่าได้แล้ว กลับพยายามหน่วงเหนี่ยวมิให้พม่าประกาศเอกราช และได้ส่งอองซานและพวกตะขิ่นประมาณ 30 คน เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อรับคำแนะนำในการดำเนินการเพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ เมื่อคณะของอองซานได้เดินทางกลับพม่าใน พ.ศ. 2485 อองซานได้ก่อตั้ง องค์การสันนิบาตเสรีภาพแห่งประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist Peoples Freedom League : AFPFL) เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ องค์การนี้ภายหลังได้กลายเป็นพรรคการเมือง ชื่อ พรรค AFPFL เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว อองซานและพรรค AFPFL ได้เจรจากับอังกฤษ โดยอังกฤษยืนยันที่จะให้พม่ามีอิสรภาพปกครองตนเองภายใต้เครือจักรภพ และมีข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำพม่าช่วยให้คำปรึกษา แต่อองซานมีอุดมการณ์ที่ต้องการเอกราชอย่างสมบูรณ์ อังกฤษได้พยายามสนันสนุนพรรคการเมืองอื่น ๆ ขึ้นแข่งอำนาจกับพรรค AFPFL ของอองซานแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงยินยอมให้พรรค AFPFL ขึ้นบริหารประเทศโดยมีอองซานเป็นหัวหน้า อองซานมีนโยบายสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และต้องการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษโดยสันติวิธี จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ในพรรค AFPFL อองซานและคณะรัฐมนตรีอีก 6 คน จึงถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ขณะที่เดินออกจากที่ประชุมสภา ต่อมาตะขิ้นนุหรืออูนุได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2490 โดยอังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่พม่าแต่ยังรักษาสิทธิทางการทหารไว้ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 อังกฤษจึงได้มอบเอกราชให้แก่พม่าอย่างสมบูรณ์ ภายหลังจากพม่าได้รับเอกราชแล้วการเมืองภายในประเทศก็มีการสับสนอยู่ตลอดเวลา นายกรัฐมนตรี คือ นายอูนุถูกบีบให้ลาออก เมื่อพ.ศ. 2501 ผู้นำพม่าคนต่อมาคือนายพลเน วิน ซึ่งได้ทำการปราบจลาจลและพวกนิยมซ้ายจัดอย่างเด็ดขาด เขาได้จัดไห้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศใน พ.ศ. 2503 ทำให้นายอูนุได้กลับมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะได้รับเสียงข้างมากในสภา



ประวัติศาสตร์ประเทศอินโดนีเซีย
อินโดนีเซียประกอบด้วยหมู่เกาะที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน แต่ต่อมาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์อยู่ประมาณ 301 ปี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2.1 ญี่ปุ่นบุกอินโดนีเซีย และทำการขับไล่เนเธอร์แลนด์เจ้าอาณานิคมของอินโดนีเซียออกไปได้สำเร็จ จึงทำให้ผู้นำอินโดนีเซียคนสำคัญในสมัยนั้นให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นแต่ไม่ได้ให้ความไว้วางใจกับญี่ปุ่นมากนัก เพราะมีเหตุเคลือบแคลงคือ เมื่อผู้รักชาติอินโดนีเซียจัดตั้งขบวนการต่างๆขึ้นมา ญี่ปุ่นจะขอเข้าร่วมควบคุมและดำเนินงานด้วย เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามและประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายพันธมิตร อินโดนีเซียได้ถือโอกาสประกาศเอกราชใน พ.ศ. 2488 แต่เนเธอร์แลนด์เจ้าของอาณานิคมเดิมไม่ยอมรับการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย จึงยกกองทัพเข้าปราบปราม ผลจากการสู้รบปรากฏว่าเนเธอร์แลนด์ไม่สามารถปราบปรามกองทัพอินโดนีเซียได้ จากนั้นอังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรกับเนเธอร์แลนด์จึงเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้ยุติความขัดแย้งกัน โดยให้ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงลิงกัดยาติ (Linggadjati Agreement) เมื่อ พ.ศ. 2489 โดยเนเธอร์แลนด์ยอมรับอำนาจรัฐของรัฐบาลอินโดนีเซียในเกาะชวาและสุมาตรา ต่อมาภายหลังเนเธอร์แลนด์ได้ละเมิดข้อตกลงโดยได้นำทหารเข้าโจมตีอินโดนีเซียทำให้ประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย และอินเดียได้ยื่นเรื่องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเข้าจัดการ สหประชาชาติได้เข้าระงับข้อพิพาทโดยตั้งคณะกรรมการประกอบด้วย ออสเตรเลีย เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอมและได้เรียกร้องให้หยุดยิง แต่เนเธอร์แลนด์ได้เข้าจับกุมผู้นำคนสำคัญของอินโดนีเซีย คือ ซูการ์โนและฮัตตาไปกักขัง ต่อมาทหารอินโดนีเซียสามารถช่วยเหลือนำตัวผู้นำทั้งสองออกมาได้ ในระยะนี้ทุกประเทศทั่วโลกต่างตำหนิการกระทำของเนเธอร์แลนด์อย่างยิ่งและคณะมนตรีความมั่นคงได้กดดันให้เนเธอร์แลนด์มอบเอกราชแก่อินโดนีเซีย ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2492 อินโดนีเซียได้รับเอกราชแต่ความยุ่งยากยังคงมีอยู่เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ไม่ยินยอมให้รวมดินแดนอิเรียนตะวันตกเข้ากับอินโดนีเซีย ทั้งสองฝ่ายจึงต่างเตรียมการจะสู้รบกันอีก ผลที่สุดเนเธอร์แลนด์ก็ยอมโอนอำนาจให้สหประชาชาติควบคุมดูแลอิเรียนตะวันตกและให้ชาวอิเรียนตะวันตกแสดงประชามติว่าจะรวมกับอินโดนีเซียหรือไม่ ผลการออกเสียงประชามติปรากฏว่าชาวอิเรียนตะวันตกส่วนใหญ่ต้องการรวมกับอินโดนีเซีย สหประชาชาติจึงโอนอิเรียนตะวันตกให้อยู่ในความปกครองของอินโดนีเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2506



ประวัติศาสตร์ประเทศมาเลเซีย
ปรากฏความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นระหว่างหลายชนเผ่าพันธุ์และหลายวัฒนธรรมของประเทศ นอกจากชาวมาเลย์และกลุ่มชนพื้นเมืองแล้ว ยังมีผู้อพยพมาจากจีน อินเดีย อินโดนีเซียและส่วนอื่นของโลก ซึ่งรวมเข้าเป็นพลเมืองของมาเลเซีย มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างน่าสนใจ อาจเนื่องมาจากการติดต่อสัมพันธ์นานปี กับภายนอกและการปกครองโดย ชาวโปรตุเกส ดัตช์ และ อังกฤษ ผลที่เกิดตามมาคือการวิวัฒน์ของประเทศจนเปลี่ยนรูปของวัฒนธรรมดังจะได้เห็น การผสมผสานได้อย่างวิเศษของ ศาสนา กิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีการแต่งกาย ภาษาและอาหาร ประเทศมาเลเซียได้รับเอกราชคืนจากอังกฤษมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1957เป็นสหพันธ์มาเลเซีย ต่อมาเมื่อรวมรัฐซาบาห์ และ รัฐซาราวัดเข้าด้วยแล้ว ประเทศมาเลเซียจึงได้ถือกำเนิดขึ้น



ประวัติศาสตร์ประเทศฟิลิปปินส์
หลักฐานทางโบราณคดีและโบราณชีววิทยาบ่งบอกว่ามีมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ เคยอาศัยอยู่ในเกาะปาลาวันตั้งแต่ประมาณ 50,000 ปีก่อน ชนเผ่าที่พูดภาษาในตระกูลออสโตรนีเซียได้เข้ามาตั้งรกรากในฟิลิปปินส์ และจัดตั้งเส้นทางเครือข่ายการค้ากับเอเชียอาคเนย์ส่วนที่เหลือทั้งหมดตั้งแต่ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล เฟอร์ดินานด์ มาเจลลันมาถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1521(พ.ศ. 2064) มีเกล โลเปซ เด เลกัสปี มาถึงฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1565 (พ.ศ. 2108) และตั้งชุมชนชาวสเปนขึ้น ซึ่งนำไปสู่การตั้งอาณานิคมในเวลาต่อมา หลังจากนั้น นักบวชศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้แปรศาสนาของชาวเกาะทั้งหมดให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ ในช่วง 300 ปีนับจากนั้น กองทัพสเปนได้ต่อสู้กับเหตุการณ์กบฏต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากชนพื้นเมืองและจากชาติอื่นที่พยายามเข้ามาครอบครองอาณานิคม ซึ่งได้แก่ อังกฤษ จีน ฮอลันดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และโปรตุเกส สเปนสูญเสียไปมากที่สุดในช่วงที่อังกฤษเข้าครอบครองเมืองหลวงเป็นการชั่วคราวในช่วงสงครามเจ็ดปี (Seven Years' War) หมู่เกาะฟิลิปปินส์อยู่ใต้การปกครองของสเปนในฐานะอาณานิคมของสเปนใหม่ (New Spain) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1565 (พ.ศ. 2108) ถึงปี ค.ศ. 1821 (พ.ศ. 2364) และนับจากนั้นฟิลิปปินส์ก็อยู่ใต้การปกครองของสเปนโดยตรง การเดินเรือมะนิลาแกลเลียน (Manila Galleon) จากฟิลิปปินส์ไปเม็กซิโก เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 และหมู่เกาะฟิลิปปินส์เปิดตัวเองเข้าสู่การค้าโลกในปี ค.ศ. 1834



ประวัติศาสตร์ประเทศสิงคโปร์
สิงคโปร์เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ปลายสุดแหลมมาลายู เป็นสถานพักสินค้าของพ่อค้าทั่วโลก เดิมชื่อว่า เทมาเส็ก (ทูมาสิค) มีกษัตริย์ปกครอง ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้มีเจ้าผู้ครองนครปาเล็มบังเดินทางแสวงหาดินแดนใหม่เพื่อสร้างเมือง แต่เรือก็อับปางลง พระองค์ได้ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง แล้วก็เห็นสัตว์ชนิดหนึ่งมีรูปร่างลำตัวสีแดงหัวดำหัวคล้ายสิงโตหน้าอกขาว พระองค์จึงถามคนติดตามว่า สัตว์ตัวนั้นคืออะไรคนติดตามก็ตอบว่ามันคือ สิงโต พระองค์จึงเปลี่ยนชื่อเทมาเส็กเสียใหม่ว่า สิงหปุระ ต่อมาสิงหปุระก็ได้ตกเป็นของสุลต่านแห่งมะละกา ประเทศแรกที่มายึดสิงคโปร์ไว้ได้คือโปรตุเกส เมื่อปี ค.ศ. 1511 แล้วก็ถูกชาวดัตช์มาแย่งไป แต่ประมาณปี ค.ศ. 1817 อังกฤษได้แข่งขันกับดัตช์ในเรื่องอาณานิคม อังกฤษได้ส่งเซอร์ โทมัส แสตมฟอร์ด บิงก์เลย์ แรฟเฟิลส์ มาสำรวจดินแดนแถบสิงคโปร์ ตอนนั้นสิงคโปร์ยังมีสุลต่านปกครองอยู่ แรฟเฟิลส์ได้ตกลงกับสุลต่านว่า จะตั้งสถานีการค้าของอังกฤษที่นี่ แต่สุดท้ายอังกฤษก็ยึดสิงคโปร์ไว้เป็นเมืองขึ้นได้สำเร็จ ค.ศ. 1819 เซอร์ แสตมฟอร์ด ราฟเฟิล สำรวจเกาะสิงคโปร์ และก่อตั้งประเทศ ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ และก็สามารถยึดครองสิงคโปร์ไว้ได้ แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง อังกฤษก็ได้ครอบครองสิงคโปร์เหมือนเดิม เมื่อสิงคโปร์เห็นมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ สิงคโปร์จึงรีบขอรวมชาติเข้ากับมลายูกลายเป็นสหภาพมลายาทันที เพื่อจะได้ไม่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอีก แต่สิงคโปร์ก็ไม่พอใจกับมาเลเซียมากนักเพราะมีการเหยียดชนชาติกัน ทำให้พรรคกิจประชาชนของสิงคโปร์ประกาศให้สิงคโปร์เป็นเอกราชตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1965 ตั้งแต่บัดนั้นมาในชื่อ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อแยกตัวออกมาแล้วพรรคกิจประชาชนก็ครองประเทศมาตลอดจนถึงทุกวันนี้



ประวัติศาสตร์ประเทศเวียดนาม
ประวัติศาสตร์ประเทศเวียดนาม ยุคก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ยุคที่อยู่ใต้อิทธิพลของจีน (ก่อน ค.ศ. 111- ค.ศ 938) ช่วงนี้ราชวงศ์ฮั่นบุกอาณาจักนามเวียดและผนวกเอาเป็นส่วนหนึ่งของจีน ช่วงนี้เวียดนามอยู่ใต้อิทธิพลของจีนนานถึง 1000 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ได้อิทธิพลและรับวัฒนธรรมหลายอย่างมาจากจีน อาณาจักรแรกของชาวเวียดนาม คืออาณาจักร นามเวียด (อาณาจักรทางตอนเหนือ) เป็นเป็นเมืองขึ้นของจีนมานาน ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่เดี่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนเป็นส่วนใหญ่ แม้ต่อมาอาณาจักรนามเวียดจะเป็นอิสระแต่ก็ยังคงส่งเครื่องบรรณาการส่งให้จีน (จีนถือว่านามเวียดเป็นเมืองประเทศราช) ทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศเวียดนามในอดีตเป็นที่ตั้งของอาราจักรจามปา(พวกจาม ซึ่งปัจจุบันเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม) ช่วงที่เป็นเอกราชจากจีน (ค.ศ. 938-1009) ช่วงนี้เป็นช่วงต้นราชวงศ์ถังซึ่งภายในจีนมีความวุ่นวายภายในเวียดนามก็สถาปนาราชวงศ์เล(Le Dynasty) ช่วงยุคทองของประวัติศาสตร์เวียดนาม (ค.ศ. 1010 -1527) เมื่ออาณาจักรนามเวียดทางตอนเหนือสามารถยึดพวกจามได้ทำให้อาณาจักรกว้างขวาง โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์เล เป็นช่วงที่มีการวางรากฐานในการพัฒนาประเทศอย่างสำคัญมากมายมีการส่งเสริมพุทธศาสนากับลัทธิขงจื้อกับลัทธิเต๋าด้วยและได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ กรุงฮานอย ยุคแห่งการแบ่งแยก (ค.ศ. 1528-1802) อาณาจักรถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เหนือ-ใต้ เมื่อราชวงส์เลเสื่อมอำนาจทำให้อาณาจักแบ่งออกเป็นสามส่วน ตอนเหนือ – แคว้นตังเกี่ย – ศูนย์กลางที่กรุงฮานอย – มีตระกูลแม็ค ปกครอง ตอนกลาง – แคว้นอันนัม – ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเตย์โด – มีตระกูลตรินห์ ปกครอง ตอนใต้ – แคว้นโคชินไชนา – มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเว้ – มีตระกูล เหงียน ปกครอง ต่อมาตระกูลตรินห์ยึดแคว้นตั๋งเกี๋ยได้ ซึ่งทำให้เหลือ 2 แคว้น ต่อมาเจ้าชายเหงียนอันห์ แห่งราชวงศ์เหงียนทำการรวมประเทศ เป็นประเทศเวียดนาม (ค.ศ.1802 จึงเรียกชื่อประเทศว่าเวียดนาม)โดยความช่วยเหลือจากไทย(สมัย ร.1) และฝรั่งเศส และสถาปนาราชวงศ์ยาลอง เป็นจักรพรรดิยาลอง จักรพรรดิยาลอง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝรั่งเศสมาก และฝรั่งเศสได้เข้ามาช่วยเหลือในการรวมประเทศผลสุดท้ายฝรั่งเศสก็เข้ามาแทรกแซงภายในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ จน ต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ราชวงศ์เหงียน(เหวียน) เป็นราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม นับตั้งแต่กษัตริย์ยาลองจนถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายคือเบ๋าได่(Bao Dai) รวม 143 ปี (ปี ค.ศ. 1945 เป็นปีที่สิ้นสุดระบบกษัตริย์ของเวียดนาม) เวียดนามแต่เดิมมีการปกครองแบบราชาธิปไตย(มีกษัตริย์) แบบรวมอำนาจการปกครอง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมาไม่ต่ำกว่า 4000 ปี เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน มากว่า 1000 ปี มีการดิ้นรนต่อสู้ให้พ้นจากการยึดครองของจีนตลอดมา ยุคที่อยู่ใต้การปกครองของชาติตะวันตก (เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส) ชาติตะวันตกเริ่มเข้ามาในเวียดนามในช่วง ศตวรรษที่ 1600 โดยเข้ามาทำการค้าและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะ ฝรั่งเศส และชาวฝรั่งเศส ชื่อ Alexandre de Rhodes ได้เข้ามาพัฒนาภาษาเวียดนามที่เดิมใช้ตัวอักษรจีน มาใช้ตัวอักษรโรมันแทน (โดยพัฒนาต่อจากมิชชั่นนารีชาวโปรตุเกสที่เริ่มไว้ก่อหน้า) และในสมัยราชวงศ์เหงียนจึงมีข้อขัดแย้งกันทางศาสนาซึ่งเดิมชาวเวียดนามนับถือศาสนาพุทธ ขงจื้อ ในช่วงปี ค.ศ. 1859-1867 ฝรั่งเศสได้เริ่มยึดครองเวียดนาม ในสมัยราชวงศ์เหงียน เวียดนามถูกฝรั่งเศสเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2427 ทำให้ประเทศถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ภาคเหนือเป็นแคว้นตังเกี๋ย ภาคกลางเป็นแคว้นอันนัม และภาคใต้เป็นแคว้นโคชินไชนา (โคชินจีน) และถูกรวมเข้ากับเขมร และลาว เรียกว่าสหพันธ์อินโดจีน (Indochinese Federation) ในปี 1893 ในช่วงที่เวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสนั้น ฝรั่งเศสได้พัฒนา หลายสิ่ง ทั้งด้าน การศึกษา การเกษตร ระบบเมือง ระบบถนน การสาธารณสุข มีการส่งสินค้าการเกษตรมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็ตกอยู่กับฝรั่งเศส ในช่วงที่เวียดนามตกอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศสนั้น ก็ได้เริ่มมีบางกลุ่มที่เริ่มต่อต้าน และต้องการปกครองของฝรั่งเศส นั้นก็คือกลุ่มของโฮจิมินห์ (กลุ่มเวียดมินห์ Viet Minh) ยุคหลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส และ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (สงครามมหาเอเชียบูรพา) เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2 ฝากทางเอเชีย)ญี่ปุ่นได้ยกกำลังเข้ายึดอินโดจีนของฝรั่งเศส และได้ประกาศยกเลิกอำนาจการปกครองของฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2483 (ค.ศ.1940) พร้อมกับได้มอบหมายให้จักรพรรดิเบ๋าได๋ของเวียดนาม ประกาศอิสรภาพ และจัดตั้งรัฐบาลเวียดนามขึ้นปกครองประเทศ ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะยึดอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ในเวียดนามได้มีขบวนการต่อต้านฝรั่งเศส ที่สำคัญอยู่ขบวนหนึ่งเรียกว่า สันนิบาตเพื่อเอกราชเวียดนาม หรือเวียดมินห์ (Viet Minh) ผู้ก่อตั้งขบวนการนี้คือ โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh) ขบวนการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะแยกสลายศัตรู และรวมพลังต่าง ๆ ให้มากที่สุด เพื่อที่จะพิทักษ์รักษาประเทศชาติ และปลดปล่อยประชาชน ฐานที่มั่นของขบวนการนี้อยู่ที่เวียดบัค (Viet Bac) และขบวนการดังกล่าว ได้กลายมาเป็น กองทัพประชาชนของเวียดนามในเวลาต่อมา ในห้วงเวลาที่ญี่ปุ่นยึดครองเวียดนาม ครั้นสงครามมหาเอเชียบูรพานั้น จีนและสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความช่วยเหลือขบวนการนี้ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ทำให้โฮจิมินห์สามารถก่อตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ที่มีประสิทธิภาพขึ้นทั่วประเทศ เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง(สงครามโลกครั้งที่ 2)ในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ.1945)ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม จักรพรรดิเบาได๋ได้สละราชสมบัติ และมอบอำนาจการบริหารให้แก่ฝ่ายเวียดมินห์ ฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมีอังกฤษเป็นฝ่ายสนับสนุน ให้ฝรั่งเศสกลับเข้ามามีอำนาจในเวียดนามอีก โฮจิมินห์ได้ประกาศทำการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอย่างเปิดเผย โดยได้ประกาศอิสรภาพ และสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ซึ่งประกอบด้วยตังเกี๋ย อันนัม และโคชินไชน่าขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2488โดยมีกรุงฮานอยเป็นเมืองหลวง และโฮจิมินห์เป็นประธานาธิบดี



ประวัติศาสตร์ประเทศบรูไน
บรูไนเป็นที่รู้จักและมีอำนาจมากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยมีอาณาเขตครอบครองส่วนใหญ่ของเกาะบอร์เนียวและส่วนหนึ่งของหมู่เกาะซูลู มีชื่อเสียงทางการค้า สินค้าส่งออกที่สำคัญในสมัยนั้น ได้แก่ การบูร พริกไทย และทองคำ หลังจากนั้นบรูไนเสียดินแดนและเสื่อมอำนาจลงเนื่องจากสเปน และฮอลันดาได้แผ่อำนาจเข้ามา จนถึงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในปี พ.ศ. 2431 (ค.ศ. 1888) ด้วยความวิตกว่าจะต้องเสียดินแดนต่อไปอีก บรูไนจึงได้ยินยอมเข้าอยู่ภายใต้อารักขาของอังกฤษ และต่อมาในปี พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) บรูไนได้ลงนามในสนธิสัญญายินยอมอยู่เป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษอย่างเต็มรูปแบบ ในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) บรูไนสำรวจพบน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่เมืองเซรีอา ทำให้บรูไนมีฐานะมั่งคั่งในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) ได้มีการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคประชาชนบอร์เนียว (Borneo People’s Party) ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่ถูกกีดกันไม่ให้จัดตั้งรัฐบาล ต่อมาจึงได้ยึดอำนาจจากสุลต่าน แต่สุลต่านทรงได้รับความช่วยเหลือจากกองทหารกูรข่าที่อังกฤษส่งมาจากสิงคโปร์ หลังจากนั้นได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน และต่ออายุทุก ๆ 2 ปี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากที่อยู่ภายใต้อารักขาของอังกฤษมาถึง 95 ปี บรูไนก็ได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984)

















ประวัติประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

AEC เป็นการพัฒนามาจากการเป็น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of South East Asian Nations : ASEAN) ก่อตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เมื่อ 8 สิงหาคม 2510 โดยมีประเทศผู้ก่อตั้งแรกเริ่ม 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมาในปี 2527 บรูไน ก็ได้เข้าเป็นสมาชิก ตามด้วย 2538 เวียดนาม ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิก ต่อมา 2540 ลาวและพม่า เข้าร่วม และปี 2542 กัมพูชา ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 10 ทำให้ปัจจุบันอาเซียนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคขนาดใหญ่ มีประชากร รวมกันเกือบ 500 ล้านคน


จากนั้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 ที่อินโดนีเซีย เมื่อ 7 ต.ค. 2546 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตกลงกันที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งประกอบด้วย3 เสาหลัก คือ
1.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community:AEC) 2.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Socio-Cultural Pillar) 3.ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (Political and Security Pillar)

คำขวัญของอาเซียน คือ " One Vision, One Identity, One Community." หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม


เดิมกำหนดเป้าหมายที่จะตั้งขึ้นในปี 2563 แต่ต่อมาได้ตกลงกันเลื่อนกำหนดให้เร็วขึ้นเป็นปี 2558 และก้าวสำคัญต่อมาคือการจัดทำปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2552 นับเป็นการยกระดับความร่วมมือของอาเซียนเข้าสู่มิติใหม่ในการสร้างประชาคม โดยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งทางกฎหมายและมีองค์กรรองรับการดำเนินการเข้าสู่เป้าหมายดังกล่าวภายในปี 2558
ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียน รวม 10 ประเทศได้แก่ ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา บรูไน
สำหรับเสาหลักการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC )ภายในปี 2558 เพื่อให้อาเซียนมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ อย่างเสรี และเงินทุนที่เสรีขึ้นต่อมาในปี 2550 อาเซียนได้จัดทำพิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) เป็นแผนบูรณาการงานด้านเศรษฐกิจให้เห็นภาพรวมในการมุ่งไปสู่ AEC ซึ่งประกอบด้วยแผนงานเศรษฐกิจในด้าน ต่าง ๆ พร้อมกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ จนบรรลุเป้าหมายในปี 2558 รวมทั้งการให้ความยืดหยุ่นตามที่ประเทศสมาชิกได้ตกลงกันล่วงหน้า
ในอนาคต AEC จะเป็นอาเซียน+3 โดยจะเพิ่มประเทศ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เข้ามาอยู่ด้วย และต่อไปก็จะมีการเจรจา อาเซียน+6 จะมีประเทศ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ อินเดียต่อไป


วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งประชาคมอาเซียน

ประชาคมอาเซียน ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และเมื่อการค้าระหว่างประเทศในโลกมีแนวโน้มกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น ทำให้อาเซียนได้หันมามุ่งเน้นกระชับและขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันมากขึ้น วัตถุประสงค์หลักที่กำหนดไว้ในปฏิญญาอาเซียน (The ASEAN Declaration) มี 7 ประการ ดังนี้


1. ส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคมและวัฒนธรรม
2. ส่งเสริมการมีเสถียรภาพ สันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค
3. ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาการ วิทยาศาสตร์ และด้านการบริหาร
4. ส่งเสริมความร่วมมือซึ่งกันและกันในการฝึกอบรมและการวิจัย
5. ส่งเสริมความร่วมมือในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การค้า การคมนาคม การสื่อสาร และปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิต
6. ส่งเสริมการมีหลักสูตรการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
7. ส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรระดับภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศ

ประชาคมอาเซียนคืออะไร

ประชาคมอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) เป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจุดเริ่มต้นโดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ร่วมกันจัดตั้ง สมาคมอาสา (Association of South East Asia) เมื่อเดือน ก.ค.2504 เพื่อการร่วมมือกันทาง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่ดำเนินการไปได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความผกผันทางการเมืองระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย จนเมื่อมีการฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างสองประเทศ จึงได้มีการแสวงหาหนทางความร่วมมือกันอีกครั้ง


ประวัติสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2510 หลังจากการลงนามในปฎิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Declaration of ASEAN Concord) หรือเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration)


โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งมี 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ซึ่งผู้แทนทั้ง 5 ประเทศที่ร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพ ประกอบด้วย
1.นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย
2.ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย
3.นายนาซิโซ รามอส รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์
4.นายเอส ราชารัตนัม รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์
5.พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากประเทศไทย

หลังจากจัดตั้ง ประชาคมอวเซียนเมื่อ 8 ส.ค.2510 แล้ว อาเซียนได้เปิดรับสมาชิกใหม่จากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มเติมเป็นระยะ ตามลำดับได้แก่
-บรูไนดารุสซาลาม เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ 8 มกราคม 2527
-สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ 28 กรกฏาคม 2538
-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2540
-สหภาพพม่า เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ 23 กรกฏาคม 2540
-ราชอาณาจักรกัมพูชา เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ 30 เมษายน 2542





2024 World of flash-mini.com : About us

The content on this page is generated and generated by social media content automatically. If you encounter a problem or want to delete the information Please inform at this email >> [email protected]

This website uses cookies or similar technologies, to enhance your browsing experience and provide personalized recommendations. By continuing to use our website, you agree to our Privacy Policy & Terms

We relies on APIs,All logos and trademarks displayed on this application are property of their. None of the content is hosted on our servers, only on theier servers and all rights owned by their respective owners.



Contacts Office Address: 125/8 Sukhumvit Road, Phra Khanong Subdistrict, Bang Na District, Bangkok 10120 | Contacts Telephone : 082 6918082 | Contacts email : [email protected]